ในการเลี้ยงไก่ระบบปิด โปรแกรมแสง ไก่เนื้อ มีความสำคัญต่อตัวเลขผลผลิตและสวัสดิภาพสัตว์ เพราะไก่จำเป็นต้องมีช่วงมืด เพื่อเป็นเวลาพักผ่อน ซึ่งจะช่วยให้ไก่มีการเติบโตที่ดี ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อดี ขนาดตัวสม่ำเสมอ และระบบต่างๆของร่างกายทำงานเป็นปกติ เมื่อเทียบกับไก่ที่เลี้ยงแบบเปิดไฟตลอดเวลา
การออกแบบโปรแกรมแสง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเลี้ยงไก่แต่ละรุ่น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะนำไปใช้ให้ได้ผลดีในทุกสภาพการเลี้ยง จำเป็นต้องนำมาปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ฤดูกาล ลักษณะของโรงเรือน และเป้าหมายการเลี้ยงในแต่ละรุ่น
การออกแบบโปรแกรมแสง ไม่ใช่เพียงการกำหนดเวลาปิด-เปิดไฟเท่านั้น แต่คือการกำหนด “ช่วงมืด-ช่วงสว่าง” ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยง เพราะบางโรงเรือนไม่สามารถที่จะควบคุมแสงสว่างให้มืดสนิทได้แม้อยู่ในช่วงเวลาปิดไฟ เช่น โรงเรือนที่ใช้ผ้าใบกั้นผนังแบบโปร่งแสงหรือโรงเรือนระบบเปิด แสงสว่างจะขึ้นกับแสงที่มาจากสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ไม่มีสูตรสำเร็จของโปรแกรมแสงที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงในแต่ละรุ่น
การกำหนดโปรแกรมแสงเริ่มจากการกำหนด ช่วงมืด-ช่วงสว่าง ให้เหมาะสมกับช่วงอายุการเลี้ยง โดยการกำหนดช่วงมืดจะกำหนดเป็นช่วงยาวต่อเนื่องเพียงครั้งเดียวในแต่ละวัน เช่น กำหนดช่วงมืดต่อเนื่องกัน 6 ชั่วโมงแล้วตามด้วยช่วงสว่างต่อเนื่องอีก 18 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มรอบโปรแกรมของวันถัดไป เป็นต้น
ลูกไก่วันแรก
ในวันแรกที่ลูกไก่มาถึง ให้เปิดไฟไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไก่ได้รับน้ำและอาหารครบทุกตัวก่อนจะเริ่มปิดไฟในคืนที่ 2 โดย กำหนดเวลาปิดไฟไว้ตายตัวไปจนถึงจบรุ่น ส่วนการปรับช่วงมืด-สว่างตามโปรแกรมแสง จะใช้การปรับเวลาเปิดไฟแทน
ที่ต้องกำหนดเวลาปิดไฟไว้ตายตัว เพื่อให้ไก่เรียนรู้และจดจำ เมื่อใกล้ถึงเวลาปิดไฟไก่จะกินน้ำและอาหารให้เต็มที่ก่อนเข้าสู่ช่วงมืด และพอเปิดไฟไก่จะเข้าหาน้ำและอาหารทันที เทคนิคนี้จะช่วยลดปัญหาการขาดน้ำและความเครียดจากการอดอาหารได้
ช่วงการกกลูกไก่
ความเข้มแสงและการกระจายของแสงอย่างสม่ำเสมอช่วงการกกลูกไก่มีความสำคัญ เพราะจะช่วยกระตุ้นการกินได้ และพัฒนาระบบทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกัน
บริเวณที่มืดที่สุดในโรงเรือนควรมีความเข้มแสงอย่างน้อย 25 ลักซ์ วัดจากระดับตัวไก่ เพื่อช่วยให้ลูกไก่มองเห็นน้ำและอาหารได้อย่างชัดเจน
เมื่อลูกไก่น้ำหนักตัวถึง 100-160 กรัม ให้เพิ่มช่วงมืดมากขึ้น(ดูตารางประกอบ) และลดความเข้มแสงลง 5-10 ลักซ์ แต่หากยังขยายกกลูกไก่ไม่เต็มโรงเรือน อาจจะรอจนขยายเต็มโรงเรือนก่อนก็ได้

ช่วงเลี้ยงไก่เนื้อ
ควรชั่งน้ำหนักไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และปรับโปรแกรมแสงให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของไก่
ไก่ช่วงอายุ 7 ถึง 21 วัน หากมีการเติบโตเร็วจนเกินไป อาจพบปัญหาอัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาท้องมาน การตายแบบเฉียบพลัน และปัญหาขา ในช่วงนี้อาจพิจารณาขยายช่วงมืดเป็น 6 ชั่วโมง จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น
ถ้าสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แรงลมภายในโรงเรือนได้ การปิดไฟช่วงกลางคืนจะเหมาะสมที่สุด เพราะจะทำให้ได้ช่วงมืด ที่มืดสนิทจริงๆ ส่วนในตอนกลางวันจะเป็นเวลาสำหรับเข้าตรวจดูไก่ และความเรียบร้อยในโรงเรือน
แต่ในบางกรณีที่อากาศภายนอกโรงเรือนร้อน จนไม่สามารถทำอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ลดต่ำลงได้ อาจพิจารณากำหนดช่วงกลางวันเป็นช่วงมืด แล้วช่วงกลางคืนเป็นช่วงสว่างซึ่งมีอากาศเย็นกว่า ก็ถือเป็นเทคนิคที่ดีที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นการกินได้ของไก่ช่วงอากาศร้อน แต่ต้องคำนึงว่าการเปลี่ยนตารางช่วงมืด-สว่างระหว่างรุ่นนั้น อาจกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของไก่ ซึ่งจะกระทบต่อตัวเลขผลผลิตตามมา การกำหนดโปรแกรมจึงควรวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการลงไก่ดีที่สุด
ช่วงก่อนจับไก่
ช่วง 48 ชั่วโมงก่อนจับไก่ ให้เพิ่มความเข้มแสงเป็น 10-20 ลักซ์ เพื่อให้ไก่ปรับตัวก่อนที่จะถูกจับ ซึ่งจะลดอาการตื่นตกใจของไก่เวลาจับ เกิดเป็นปัญหาคุณภาพซากตามมา
ตัวอย่าง โปรแกรมแสง ไก่เนื้อ พันธุ์ Cobb
กรณีที่ 1 สำหรับไก่เนื้อ น้ำหนักจับไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม
อายุ | ช่วงมืด(ชั่วโมง) | ช่วงเปลี่ยนแปลง(ชั่วโมง) |
---|---|---|
ลงวันแรก | เปิดไฟ 24 ชม.แรก | 0 |
1 วัน | 1 | 5 |
น้ำหนัก100-160 กรัม | 6 | 1 |
5 วันก่อนจับ | 5 | 1 |
4 วันก่อนจับ | 4 | 1 |
3 วันก่อนจับ | 3 | 1 |
2 วันก่อนจับ | 2 | 1 |
1 วันก่อนจับ | 1 | 1 |
กรณีที่ 2 สำหรับไก่เนื้อ น้ำหนักจับ 2.5-3.0 กิโลกรัม
อายุ | ช่วงมืด(ชั่วโมง) | ช่วงเปลี่ยนแปลง(ชั่วโมง) |
---|---|---|
0 | เปิดไฟ 24 ชม.แรก | 0 |
1 | 1 | 1 |
น้ำหนัก100-160 กรัม | 9 | 8 |
22 | 8 | 1 |
23 | 7 | 1 |
24 | 6 | 1 |
5 วันก่อนจับ | 5 | 1 |
4 วันก่อนจับ | 4 | 1 |
3 วันก่อนจับ | 3 | 1 |
2 วันก่อนจับ | 2 | 1 |
1 วันก่อนจับ | 1 | 1 |
กรณีที่ 3 สำหรับไก่เนื้อ น้ำหนักจับ 3.0 กิโลกรัมขึ้นไป
อายุ | ช่วงมืด(ชั่วโมง) | ช่วงเปลี่ยนแปลง(ชั่วโมง) |
---|---|---|
0 | เปิดไฟ 24 ชม.แรก | 0 |
1 | 1 | 1 |
น้ำหนัก100-160 กรัม | 12 | 11 |
22 | 11 | 1 |
23 | 10 | 1 |
24 | 9 | 1 |
29 | 8 | 1 |
30 | 7 | 1 |
31 | 6 | 1 |
5 วันก่อนจับ | 5 | 1 |
4 วันก่อนจับ | 4 | 1 |
3 วันก่อนจับ | 3 | 1 |
2 วันก่อนจับ | 2 | 1 |
1 วันก่อนจับ | 1 | 1 |
โปรแกรมแสงกับฤดูกาล
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น โปรแกรมแสง เป็นการกำหนดช่วงมืด-สว่างระหว่างการเลี้ยงไก่ ซึ่งแต่ละฤดูกาลจะมีช่วงกลางวัน-กลางคืนที่ยาวนานไม่เท่ากัน การปรับโปรแกรมแสงจำเป็นที่จะต้องนำปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก Cobb Vantress
บล็อกเกอร์/ผู้แทนยาสัตว์/สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม